ข้อควรรู้ก่อนการเลือกปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

ข้อควรรู้ก่อนการเลือกปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมกลไกสำคัญของการสูบจ่ายน้ำในงานอุตสาหกรรม

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมเป็นประเภทของปั๊มน้ำที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตอาหาร, โรงงานผลิตน้ำตาล, โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ, โรงงานผลิตยางพารา เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมในโรงงานไฟฟ้าและในงานกรมชลประทานได้เช่นกัน ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงมีความแตกต่างจากปั๊มน้ำที่ใช้ในอาคารและบ้านเรือนด้วยปริมาณน้ำที่ถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมากกว่าใช้ในอาคารหรือบ้านเรือน ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงมีขนาด น้ำหนัก กำลังแรงดัน และปริมาณของกระแสไฟฟ้าทีมากกว่าปั๊มน้ำที่ใช้ในอาคารหรือบ้านเรือนหลายเท่าตัว ที่สำคัญในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าบางชนิดยังมีการใช้สารเคมีในกระบวนการต่าง ๆ  ซึ่งสารเคมีบางชนิดมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนและบางครั้งยังมีอุณหภูมิที่สูงส่งผลให้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงต้องมีความทนทานต่อปัจจัยและสภาพแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด 

บทบาทและความสำคัญของปั๊มน้ำอุตสาหกรรม 

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยใช้แรงดันเป็นตัวขับเคลื่อนน้ำไปตามท่อที่ได้วางระบบไว้ ซึ่งการวางระบบปั๊มน้ำอุตสาหกรรมต้องมีการออกแบบให้ได้ตามมาตรฐานเพราะต้องรองรับปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากที่มีความดันสูง จึงต้องมีการออกแบบการทำงานของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมอย่างมีมาตรฐาน อีกทั้งสามารถขับเคลื่อนได้ทั้งกำลังไฟฟ้า น้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซล ซึ่งปั๊มน้ำอุตสาหกรรมมีหลายประเภทและแต่ละประเภทมีความสามารถในการทำงานที่แตกต่างกัน 

5 ประเภทของปั๊มน้ำอุตสาหกรรม 

  • ปั๊มน้ำอัตโนมัติ เป็นปั๊มที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตามปริมาณน้ำหรือแรงดันน้ำที่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งระบบนี้ช่วยให้ประหยัดแรงงานและพลังงานได้เป็นอย่างดี 

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

  • ปั๊มน้ำกึ่งอัตโนมัติ จะใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมการใช้น้ำและปรับความเร็วการไหลของน้ำให้ได้ตามที่ต้องการ ระบบนี้จึงเหมาะสำหรับงานที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำให้มีความถูกต้องและแม่นยำ

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

  • ปั๊มน้ำหอยโข่ง เป็นปั๊มที่สามารถสูบจ่ายน้ำในปริมาณมาก ๆ ได้ มีระยะในการส่งน้ำที่สูงและไกล ซึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมปั๊มหอยโข่งสามารถใช้สูบจ่ายของเหลวได้หลายชนิด เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่ม แต่ห้ามใช้ในการสูบจ่ายของเหลวที่มีชิ้นเนื้อหรือความหนืดสูง 

  ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

  • ปั๊มน้ำแบบจุ่ม เป็นปั๊มน้ำที่นิยมใช้กับสภาพน้ำที่มีความลึกเนื่องจากลักษณะการใช้งานต้องจุ่มปั๊มชนิดนี้ให้อยู่ในน้ำ เพราะรูปทรงของปั๊มน้ำคล้ายทรงกระบอกแนวตั้งจึงสามารถสูบจ่ายน้ำในสภาพลึกได้ดี ซึ่งปั๊มแบบจุ่มสามารถดูดน้ำเสีย น้ำโคลน, ของเหลวที่มีกากตะกอนสูง, ของเหลวที่มีความข้นเข้นสูง  นอกจากนั้นยังทนต่อแรงกระแทกและการกัดกร่อนได้ดีอีกด้วย

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

  • ปั๊มน้ำระบบ Chiller เป็นปั๊มน้ำที่ใช้สำหรับส่งน้ำเย็นเข้าไปในระบบแช่เย็นเพื่อช่วยปรับอุณหภูมิในอุปกรณ์ทำความเย็น นิยมใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเก็บรักษาอาหาร, อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมทั้ง 5 ประเภทมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญเพราะหากเลือกได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องจะช่วยให้ระบบการทำงานที่ทำงานร่วมกันกับปั๊มน้ำอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น 

ข้อคำนึงในการเลือกใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรม

    1. ลักษณะของงานที่นำไปใช้งาน อีกหนึ่งความแตกต่างของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมแต่ละประเภทคือความสามารถในการรองรับความสะอาดของน้ำ, ชนิดของเหลว, อุณหภูมิ, ความหนาแน่น และความหนืดซึ่งสัมพันธ์กับการนำไปใช้งาน ก่อนเลือกใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว เนื่องจากวัสดุและชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในตัวปั๊มน้ำอุตสาหกรรมแต่ประเภทได้ถูกเลือกวัสดุและชิ้นส่วนเพื่อรองรับกับปัจจัยดังกล่าวที่แตกต่างกัน เช่น ปั๊มน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต อาหาร เครื่องดื่ม และยา ต้องการความสะอาดสูงจึงควรใช้ปั๊มน้ำที่ผลิตจากสแตนเลสเพราะจะไม่เกิดสนิมและชิ้นส่วนของปั๊มน้ำจะมีความทนทาน สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำร้อนหรือของเหลวทางเคมีที่คล้ายกับน้ำร้อน ควรใช้ปั๊มน้ำที่ผลิตจากเหล็กหล่อและสแตนเลสเนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทานจึงทนต่อการสึกหรอได้ดี ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการผลิตปั๊มน้ำหรือชิ้นส่วนของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมนอกจากเหล็กหล่อและสแตนเลสแล้วยังมีพลาสติก ซึ่งปั๊มน้ำชนิดนี้ใช้ได้ดีกับงานที่อยู่ใกล้ของเหลวที่เป็นสารกัดกร่อนหรือที่มีอุณหภูมิสูง อีกทั้งยังใช้งานง่าย น้ำหนักเบา และประหยัดพื้นที่
    2. อัตราการไหล คือปริมาณน้ำที่ไหลต่อหน่วยเวลา เช่น ลิตรต่อนาที, ลิตรต่อชั่วโมง หรือลูกบาศก์ต่อชั่วโมง ซึ่งการเลือกอัตราการไหลของน้ำของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมควรเลือกอัตราการไหลน้ำที่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานจึงจะทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากเลือกปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่มีอัตราการไหลที่มากกว่าความต้องการในการใช้งานจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโดยตรง แต่ถ้าหากเลือกปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่มีอัตราการไหลของน้ำที่น้อยเกินไปอาจทำให้ไม่เพียงพอใช้งานหรือส่งผลกับระบบการทำงานทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขได้
    3. Head คือแรงดันน้ำหรือระยะส่งมีหน่วยเป็นฟุตหรือเมตรซึ่งจะมีระบุไว้บนปั๊มน้ำอุตสาหกรรมเพื่อบอกความสามารถในการส่งน้ำในแนวดิ่งได้สูงสุดกี่เมตร มีผลอย่างมากเมื่อต้องส่งน้ำขึ้นที่สูง เช่น ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมระบุ Head 20 เมตร สามารถส่งน้ำในแนวดิ่งได้สูง 20 เมตร แต่ในหลักการใช้งานปั๊มน้ำอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่สามารถส่งน้ำได้ถึง 20 เมตร เนื่องจากเจอแรงเสียดทานจากพื้นผิวท่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ข้อต่อ, ข้องอ หรือ วาล์ว รวมไปถึงความยาวของท่อทำให้แรงดันลดลงจึงทำให้ความสามารถในการส่งน้ำจริงอาจไม่ถึง 20 เมตรตามที่ระบุไว้ ดังนั้นจึงต้องมีการคำนวณอย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถเลือก Head ของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในการใช้งานได้
    4. ขนาดกำลังวัตต์ วัตต์คือหน่วยวัดกำลังไฟฟ้าซึ่งวัตต์เป็นกำลังไฟฟ้าที่ใช้บอกกำลังไฟฟ้าของมอเตอร์ในปั๊มน้ำอุตสาหกรรม หากยิ่งวัตต์มอเตอร์สูงจะมีพลังงานไฟฟ้าในการสูบจ่ายน้ำได้สูงแต่ก็มาพร้อมกับค่าไฟฟ้าที่สูงตามขึ้นไปด้วย ซึ่งการเลือกขนาดของกำลังวัตต์ของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมต้องมองปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ค่า Head, อัตราการไหล หรือการนำไปใช้งาน เช่น หากปั๊มน้ำอุตสาหกรรมมีขนาดวัตต์อยู่ 1 วัตต์ แต่มีค่า Head ที่สูง แต่อัตราการไหลต่ำ เหมาะสำหรับใช้กับระบบงานที่น้ำต้องขึ้นที่สูงและมีการพักเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปใช้ในภายหลัง เป็นต้น
    5. ขนาดท่อของปั๊มน้ำ มีหน่วยเป็นนิ้วหรือมิลลิเมตรซึ่งขนาดท่อของปั๊มน้ำจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการไหลของน้ำจากปั๊มน้ำอุตสาหกรรม โดยขนาดท่อที่มีขนาดเล็กจะรับอัตราการไหลของน้ำได้น้อย ท่อที่มีขนาดใหญ่จะรับอัตราการไหลของน้ำได้มาก ดังนั้นระบบท่อและท่อของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจะต้องมีขนาดที่เข้ากันได้เพื่อให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะหากระบบท่อมีขนาดเล็กกว่าท่อของปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจะไม่รองรับอัตราการไหลของปั๊มน้ำอุตสาหกรรม จึงทำให้ท่อส่งน้ำไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมได้ทัน ซึ่งอาจทำให้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมเกิดความเสียหายได้
    6. งบประมาณ ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในท้องตลาดมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ เช่น ประเทศยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน หรือไทย จึงทำให้มีคุณภาพที่แตกต่างกันตามวัสดุ การออกแบบ และมาตรฐานในการผลิต ส่งผลให้ราคาที่มีจำหน่ายมีราคาที่แตกต่างกัน ซึ่งการออกแบบและการวางแผนระบบการทำงานที่มีการใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมร่วมจะช่วยให้สามารถกำหนดงบประมาณของในการซื้อปั๊มน้ำอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมในการใช้กับระบบที่ออกแบบไว้ภายใต้งบประมาณที่กำหนด
    7. บริการหลังการขาย เพราะปั๊มน้ำอุตสาหกรรมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานจึงอาจทำให้มีชิ้นส่วนสึกหรอจากการใช้งาน บริษัทที่จำหน่ายปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่มีความการรับประกันจะมีความพร้อมและความชำนาญในการซ่อมแซมบำรุงรักษา จะช่วยให้กระบวนการทำงานได้รับการซ่อมแซมอย่างทันท่วงทีส่งผลให้ลดการสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี 

เมื่อเราคำนึงถึงการเลือกใช้ปั๊มน้ำแล้ว คุณสมบัติเหล่านี้จะโชว์เป็นประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ (Performance Curve) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของปั๊มน้ำอุตสาหกรรม โดยจะมีจุดต่างๆที่สำคัญแสดงถึงสมถรรถนะของปั๊มน้ำ ตัวอย่างการดูประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ (Performance Curve) ของปั๊มหอยโข่ง รุ่น G33-50 อ่านค่าได้ ดังต่อไปนี้

1.Curve H-Q คือเส้นที่แสดงอัตราการไหล (Capacity) กับแรงดัน (Head) ที่ปั๊มน้ำสามารถทำได้ในแต่ละจุดใช้งาน  จาก Performance Curve อัตราการไหลที่ 14 m3/h ปั๊มสามารถทำงานได้ที่แรงดัน 25 m 

2.Curve EFF % คือเส้นที่แสดงถึงประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ ณ จุดทำงานจุดนั้น จาก Performance Curve อัตราการไหลที่ 14 m3/h ปั๊มน้ำสามารถทำงานได้ที่แรงดัน 25m และมีประสิทธิภาพการทำงานที่ 50% 

3.Curve  BHP หรือ Shaft Power คือเส้นที่แสดงถึงกำลังของปั๊มน้ำที่จุดใช้งานนั้นๆ 

จาก Performance Curve กำลังของปั๊มน้ำอยู่ที่ 2.8 HP ที่จุดใช้งาน 14 m3/h , 25 m

4.Curve  NPSHr (Net Positive Suction Head Require) คือเส้นที่แสดงถึงสมรรถนะการดูดน้ำของปั๊มน้ำ โดยต้องคำนึงถึงค่า NPSHa (Net Positive Suction Head Available) ควบคู่กัน ค่า NPSHa คือค่าที่แสดงถึงความเอื้ออำนวยต่อการดูดน้ำของปั๊มน้ำ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามการติดตั้งปั๊มและขนาดของท่อ ซึ่งค่า NPSHa จะต้องมากกว่า ค่า NPSHr ประมาณ   10 %เสมอ (อ้างอิงจาก American National Standards Institute : ANSI และ Hydraulic Institute : HI) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะ Cavitation ของปั๊มน้ำ ได้แก่ ปั๊มน้ำสั่นมีเสียงดัง เนื่องจากเกิดฟองอากาศในห้องปั๊ม และปั๊มดูดน้ำไม่ขึ้น จาก Performance Curve จุดใช้งาน 14 m3/h , 25 m มีค่า NPSHr เท่ากับ 2 m

5.Power (Output) คือค่าที่แสดงถึงกำลังไฟฟ้าของมอเตอร์ในปั๊มน้ำรุ่นนั้นๆ จาก Performance Curve ขนาดมอเตอร์ของปั๊มน้ำรุ่นนี้อยู่ที่ 3 HP (2.2 KW)

6.Pole-Hz คือค่าที่แสดงถึงความเร็วรอบของมอเตอร์ (rpm)ในปั๊มน้ำรุ่นนั้นๆ โดยส่วนใหญ่ความเร็วรอบของมอเตอร์ในปั๊มน้ำอุตสาหกรรม จะมี 2 ขนาด คือ 2 Pole (2900 rpm) และ 4 Pole (1450 rpm) จาก Performance Curve ความเร็วรอบของมอเตอร์ในปั๊มน้ำรุ่นนี้ขนาด 2 Pole ที่ความถี่ 50 Hz 

7.Size (SUC : suction , DIS : discharge) คือค่าที่แสดงถึงขนาดท่อของปั๊มน้ำรุ่นนั้นๆ จาก Performance Curve ขนาดของท่อทางเข้า (Suction) และท่อทางออก (Discharge) ของปั๊มน้ำรุ่นนี้คือ ขนาด 2 นิ้ว (50 mm) 

การเลือกใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาปัจจัยอย่างรอบคอบ และควรมีการออกแบบระบบที่จะใช้ปั๊มน้ำอุตสาหกรรมก่อนเลือกนำมาใช้งานเพื่อให้สามารถคำนวณการใช้งานปั๊มน้ำอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ การพิจารณาทุกปัจจัยที่กล่าวมาจะช่วยทำให้เลือกปั๊มน้ำอุตสาหกรรมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานของอุตสาหกรรม และยังช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย ลดการเสียเวลาและลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ปั๊มน้ำที่ไม่เหมาะสมได้

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

แชร์บทความ :

Facebook
X